ขึ้นชื่อว่าสวนผลไม้ผสมผสาน แน่นอนว่าสวนลุงจันทร์ต้องมีผลไม้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ส้มเขียวหวาน เงาะโรงเรียน ลางสาด มังคุด อะโวคาโด้ และที่สำคัญ “ทุเรียนหมอนทอง”!!
ทุเรียนหมอนทองสวนลุงจันทร์ นี่เป็นของเด็ดของดี ของอำเภอทุ่งช้างเลยนะ ดีขนาดไหนหรอ ก็ขนาดที่มีเพื่อนๆชาวสวน ชาวเกษตรกร และผู้ที่สนใจ แวะเวียนกันมาเยี่ยมชมการปลูก พูดคุยปรึกษาและแลกเปลี่ยนเทคนิคการดูแลต้นทุเรียนจากลุงจันทร์ เจ้าของสวน กันไม่ขาดสายเลยทีเดียว
เอาล่ะ ก่อนจะเชิญชวนทุกท่านมาลองลิ้มชิมรสทุเรียนหมอนทองสวนลุงจันทร์ วันนี้เราก็จะขอนำท่านมาดูวิธีการสังเกตทุเรียนอ่อน-ทุเรียนแก่ กันดีกว่า ...
คุณสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกทุเรียนไว้ว่า
![ทุเรียนหมอนทองสวนลุงจันทร์ ของดีของอร่อยอำเภอทุ่งช้าง จ.น่าน](https://static.wixstatic.com/media/a8499b_a3174d9b9a45476ab3417a684d6b6c2a~mv2.jpg/v1/fill/w_300,h_169,al_c,q_80,enc_auto/a8499b_a3174d9b9a45476ab3417a684d6b6c2a~mv2.jpg)
“ถ้าไม่อยากได้ทุเรียนอ่อนที่รอ 3 วันแล้วก็ยังไม่สุก เวลาเลือก ให้สังเกตขั้วผล ต้องแข็งเหนียว รอยต่อตรงปลายขั้วปลิง ลูบสัมผัสผิวแล้วจะรู้สึกสากเป็นเม็ดเล็กๆ เหมือนเราเป็นผดร้อน ปลิงบวม หนามบริเวณขั้วทุเรียนกับลูกทุเรียนจะงองุ้มเข้าหาขั้วผล 3 ชั้น เรียงเป็นระเบียบ ลักษณะเหมือนกลีบบัว... ร่องหนามและปลายหนามแหลมแห้งเป็นสีน้ำตาล สีเปลือกเขียวปนน้ำตาล ร่องพูเป็นรอยแยกตื้นๆ”
“ส่วนทุเรียนอ่อน รอยต่อตรงปลายขั้วปลิงจะลื่นไม่สาก ขั้วผลนิ่มจับโยกไปมาได้ ปลายหนามแม้เป็นสีน้ำตาลเพราะตัดมาหลายวันแล้ว หนามก็เปลี่ยนสีได้ แต่หนามจะเหี่ยวนิ่ม ปลายหนามไม่คม ร่องพูลึกสีเขียวเข้มตัดกับหนามสีน้ำตาลอย่างเห็นได้ชัด และถ้าระหว่างร่องหนามมีสีขาวเริ่มให้เห็น นั่นแสดงว่า เนื้อด้านล่มเละใกล้เน่า เนื่องจากความชื้นของลูกทุเรียนอ่อน ทยอยออกมา ทำให้เละและเน่าตามมา”
ขอบคุณสาระน่ารู้จาก คุณสำราญ สาราบรรณ์ และ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
Comentários